วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เอกสารปลอม VS. เอกสารเท็จ

เอกสารปลอม VS. เอกสารเท็จ
          หลายครั้งที่พบหลายๆท่านใช้คำสับสนระหว่างคำว่า เอกสารปลอมกับเอกสารเท็จ และเข้าใจอย่างผิดๆว่า ต่างก็มีความหมายเฉกเดียวกัน หากแต่ ตามหลักกฎหมายแล้ว ทั้งสองคำนี้ มีความหมายที่แตกต่างกัน แล้วใช้เรียกในกรณีที่ต่างกันด้วย ดังนั้น หากเราใช้ผิดคำขึ้นมาแล้วล่ะก็... ความหมายเปลี่ยน งานเข้าเลยทีเดียว
            ซึ่งเราก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคย ผิดพลาดกับการใช้คำผิดๆ (ก็เจ้าสองคำนี้นี่แหละ) ถึงขั้นเจ็บแค้น +จำซึมลึก ในอุราและในสมองเลยทีเดียว 555 เมื่อผิดพลาด จึงต้องนำมาเผยแผ่ให้คนอื่นๆเข้าใจด้วยเช่นกัน จะได้ทำความเข้าใจ และนำไปแก้ไขไม่ให้ผิด (ซ้ำๆซากๆ) อย่างเราอีก
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 ว่าด้วยความผิดฐานปลอมเอกสาร
          อะไร คือ เอกสารปลอม ?
            ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายไว้ว่า “เอกสารปลอม คือ เอกสารที่ไม่ได้ทำ หรือ ได้รับอำนาจให้ทำ โดยผู้ที่ปรากฏในเอกสารนั้นว่าเป็นผู้ทำ เป็นการลวงให้หลงในตัวบุคคลผู้ทำเอกสาร หรือในลายมือชื่อของผู้ทำเอกสารนั้น แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ใช่เรื่องการมอบอำนาจให้กระทำการแทนในฐานะตัวการตัวแทนตามกฎหมาย” [i]
ศาสตราจารย์.ดร.หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “การทำเอกสารปลอม คือ การทำเอกสารขึ้นมาใหม่ แสดงให้เห็นว่า เอกสารนี้มาจากผู้อื่น ไม่ใช่ผู้ที่ทำเอกสารนั้น และ “ผู้อื่น” จะมีตัวตนหรือไม่ก็ได้” [ii]
ดังนั้น “เอกสารปลอม” คือ เอกสารที่ผู้ทำกระทำขึ้นในนามของบุคคลอื่น โดยไม่มีอำนาจ หรือ ไม่มีสิทธิทำขึ้น ซึ่งอาจเกิดความสับสน กับคำว่า “ปลอมเอกสาร” ที่มีรูปคำใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ปลอมเอกสาร คือ การ “กระทำ” เอกสารปลอม
            คำว่า “เอกสาร” ตามนิยามในมาตรา 1 (7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลขผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
            ส่วนคำว่า “ปลอม” ในความผิดฐานปลอมเอกสาร มาตรา 264 ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อนเลย ก็สามารถปลอมขึ้นได้ และไม่ต้องทำให้เหมือนจริง สามารถปลอมได้โดย
1.      ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ คือ ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยที่อาจจะมี หรือ ไม่มีเอกสารอันแท้จริงนั้นอยู่เลยก็ได้ หรือ
2.      ปลอมเอกสารแต่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใด คือ ได้มีการทำเอกสารที่แท้จริงขึ้น แต่ยังไม่เสร็จครบถ้วน ถ้าผู้ใดปลอมข้อความต่อไปจนครบถ้วน หรือ แม้จะยังไม่เสร็จครบถ้วนก็ตาม (ถ้าส่วนที่ทำขึ้นมีลักษณะเป็นเอกสารแล้ว) ก็เป็นการปลอมแต่บางส่วนแล้ว [iii]
จะสังเกตเห็นได้ว่า คำว่า “แท้จริง” ในเอกสารที่แท้จริง ไม่ได้หมายความว่า เป็นเท็จหรือเป็นจริง และไม่ได้หมายความว่า ความหมายของเอกสารอันแท้จริงนั้นจะเป็นจริงเสมอไป อาจมีข้อความอันเป็นเท็จก็ได้ และเอกสารปลอมก็อาจมีข้อความตรงกับความจริงก็ได้ [iv]
กล่าวโดยสรุป เอกสารปลอม คือ เอกสารที่ทำขึ้นโดยผู้ถูกกล่าวอ้างมิได้ทำ หรือมิได้ให้อำนาจผู้อื่นทำเอกสารนั้น เท่ากับทำขึ้นโดยให้เข้าใจว่าเป็นเอกสารที่คนอื่นทำ หรือหลอกในส่วนที่เกี่ยวกับตัวผู้ทำเอกสาร โดยไม่ต้องคำนึงว่าข้อความที่เขียนลงในเอกสารนั้นจะจริงหรือเท็จ [v]

อะไร คือ เอกสารเท็จ ?
เมื่อทราบความหมายของเอกสารปลอมแล้วก็ควรทราบถึงความหมายของเอกสารเท็จด้วย ซึ่งได้ทราบแล้วว่า เอกสารปลอม คือ เอกสารที่ถูกกล่าวอ้างว่าผู้อื่นทำหรือทำเอกสารโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ และไม่คำนึงว่าข้อความในเอกสารนั้นตรงต่อความเป็นจริงหรือไม่
ในขณะที่ “เอกสารเท็จ” หรือ “เอกสารซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จ” เป็นเอกสารที่ทำขึ้นมีข้อความเป็นเท็จ หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ซึ่งผู้ทำเอกสารเท็จจะกระทำโดยมีอำนาจหน้าที่หรือไม่ก็ได้ แต่สาระสำคัญคือ ไม่มีการกล่าวอ้างว่าผู้อื่นทำเอกสารนั้น หรือเป็นเอกสารของผู้ทำเอกสารเอง ไม่ใช่เอกสารของผู้อื่น [vi]
ในเรื่องเอกสารเท็จนั้น ไม่มีบทบัญญัติทั่วไปกำหนดความผิดไว้ดังเช่นกรณีปลอมเอกสาร ซึ่งมีมาตรา 264 กำหนดลักษณะทั่วไปของการปลอมเอกสารไว้ แต่เอกสารเท็จนั้นมีบทบัญญัติกำหนดความผิดไว้โดยเฉพาะในบางมาตรา เช่น มาตรา 162 (เจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จ) มาตรา 267 (แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสาร) และมาตรา 269 (ผู้มีวิชาชีพทำคำรับรองเป็นเอกสารเท็จ) [vii]
ข้อสังเกต
หากเป็นเอกสารเท็จต้องเป็นเอกสารที่อยู่ในอำนาจของตนที่จะทำเอกสารนั้นได้ แล้วทำขึ้นไม่ตรงต่อความจริง แต่ถ้าเป็นเอกสารปลอมต้องเป็นเอกสารที่ผู้กระทำไม่มีอำนาจที่จะทำได้ แต่ทำขึ้นในนามผู้อื่น
ข้อควรระวัง
เอกสารเท็จ อาจจะไม่ใช่เอกสารปลอมก็ได้ แต่เอกสารปลอมบางอย่าง มีข้อความอันเป็นเท็จ(อยู่ในตัว) และเอกสารปลอมบางอย่างก็อาจมีข้อความที่แท้จริงก็ได้
ตัวอย่าง
Ø    นายแดงกู้เงินนายดำ 10,000 บาท แต่ไม่ได้ทำสัญญาไว้ นายดำเกรงว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ นายดำจึงทำสัญญากู้ขึ้นมาฉบับหนึ่ง มีข้อความว่า นายแดงกู้เงินนายดำไป 10,000 บาทและลงลายมือชื่อนายแดงเช่นนี้ เป็นเอกสารปลอม แม้จะตรงกับความเป็นจริงก็ตาม (ปลอมแต่ไม่เท็จ) [viii]

Ø    ส. เปิดบัญชีฝากเงินไว้กับธนาคาร ก. โดยใช้ชื่อผู้ฝากว่า พ. แล้วเซ็นชื่อ พ. ลงในคำขอฝากเงิน เซ็นเซ็นชื่อในตัวอย่างลายมือชื่อ และให้ธนาคาร ก. ออกเช็คในนาม พ. ดังนี้ ไม่เป็นการปลอมเอกสารของผู้ใด เป็นแต่ ส. ไม่ต้องการใช้ชื่อจริงเท่านั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 (ฎีกาที่. 151/2507) [ix]



Note

[i] นพพงษ์ จูห้อง, LW 207 กฎหมายอาญา 2, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2552), หน้า 401-402.
[ii] วิรัช เมฆอรุโณทัย, กฎหมายเนติบัณฑิต อาญา ภาค 2 เล่ม 2, (กรุงเทพฯ: อฑตยา มิเล็นเนียม, 2554), หน้า 35.
[iii] นพพงษ์ จูห้อง, LW 207 กฎหมายอาญา 2, 4:401,405.
[iv] วิรัช เมฆอรุโณทัย, กฎหมายเนติบัณฑิต อาญา ภาค 2 เล่ม 2, หน้า 30.
[v] ปัญญา วรวิวัฒน์, กฎหมายอาญา ภาคความผิดและลหุโทษ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2554), หน้า 329.
[vi] เรื่องเดียวกัน.
[vii] สมศักดิ์ เอี่ยมพลับใหญ่, กฎหมายอาญา ภาคความผิดเกี่ยวกับความเท็จ การปลอมและการแปลง, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2554), หน้า 134.
[viii] เรื่องเดียวกัน, หน้า 137.
[ix] วิรัช เมฆอรุโณทัย, กฎหมายเนติบัณฑิต อาญา ภาค 2 เล่ม 2, หน้า 33.

Reference


เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. กฎหมายอาญา ภาคความผิด เล่ม 2. กรุงเทพฯ: จิรรัชการ
พิมพ์, 2548.
__________________. คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคความผิด. กรุงเทพฯ:
วิญญูชน, 2552.
จิตติ ติงศภัทิย์. กฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 2 และภาค 3. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ม.ป.ป..
นพพงษ์ จูห้อง. LW 207 กฎหมายอาญา 2. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2552.
บุญเพราะ แสงเทียน. กฎหมายอาญา 2 ภาคความผิด แนวประยุกต์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์, ม.ป.ป..
ปัญญา วรวิวัฒน์. กฎหมายอาญา ภาคความผิดและลหุโทษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
นิติธรรม, 2554. 
วิรัช เมฆอรุโณทัย. กฎหมายเนติบัณฑิตยสภา อาญา ภาค 2 เล่ม 2. กรุงเทพฯ: อฑตย มิเล็นเนียม, 2554.
สมศักดิ์ เอี่ยมพลับใหญ่. กฎหมายอาญา ภาคความผิดเกี่ยวกับความเท็จ การปลอมและการแปลง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2554.
หยุด แสงอุทัย. กฎหมายอาญา 2-3. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์, 2523.







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น